เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ สองราชนารีผู้ทรงเป็นแรงบันดาลใจของสตรีไทย

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ ทรงเข้าใจในสิทธิมนุษยชนและบทบาทในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมบุรุษของสตรีชาวอังกฤษ ครั้นเสด็จนิวัตประเทศไทย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจน้อยใหญ่อย่างเต็มพระกำลังความสามารถเพื่อบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในพระฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็ยังทรงวางพระองค์เป็นขัตติยานีอย่างเคร่งครัดเพื่อความเหมาะสม พระองค์ทรงตระหนักถึงสิทธิและสถานภาพสตรีเป็นอย่างดี จึงทรงบุกเบิก ‘วิถี’ และ ‘ค่านิยม’ สำหรับเจ้านายฝ่ายในของไทยในการปฏิบัติพระกรณียกิจ ทรงส่งเสริมให้สตรีไทยเข้าใจถึงบทบาทที่พึงมีอย่างเท่าเทียมบุรุษ และทรงเป็นดั่งแรงบันดาลใจให้สตรีไทยร่วมปฏิบัติภารกิจด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม สังคม และการปกครอง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นอีกกำลังหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ

ดังจะเห็นได้จากพระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่พระราชทานไว้แก่สมาคมสตรีชาวนาไทย ตามที่ปรากฏในหนังสือดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ความว่า

“…การช่วยกันระงับความเดือดร้อน หรือนัยหนึ่งช่วยกันเสริมสร้างความสุข ความสมดุลให้แก่ประชาชนนั้น จะทำให้เกิดความเจริญพัฒนาถาวรขึ้น อันจะทำให้อนุชนรุ่นต่อไปได้รับมรดกอันมีค่า คือประเทศไทยมีความสมบูรณ์ ร่มเย็น เป็นสุข …ในการที่สตรีได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศชาตินั้น นับว่าเป็นที่น่าสรรเสริญ และน่าภาคภูมิใจ”

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงติดตามงานพัฒนาความก้าวหน้าของสตรีไทย โดยเฉพาะงานของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์อย่างใกล้ชิด ด้วยทรงเป็นห่วงกิจการของสภาสตรีฯ ทรงรับเป็นพระธุระในการขอพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้สภาสตรีฯ ได้มีสถานที่ทำงานแห่งแรก ณ พระกรุณานิวาสน์ ถนนพิชัย ซึ่งทุกวันนี้ สภาสตรีฯ และองค์กรสตรีอีกหลายองค์กร ได้ร่วมใช้เป็นสำนักงานให้บริการแก่สตรีผู้เดือดร้อนและขาดแคลน

มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ขอร่วมน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อสตรีไทยเนื่องในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations) กำหนดให้ทุกวันที่ ๘ มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” (International Women’s Day) เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของสตรีให้ได้มาซึ่งความเสมอภาค ความเท่าเทียม ความสำคัญในสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาศักยภาพของสตรี ต่อบทบาทในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง อีกทั้งประเทศไทยในฐานะสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้ก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นในวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๓๒ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนบทบาท สถานภาพของสตรี รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของวันสตรีสากลมาอย่างต่อเนื่อง

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์