พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงถือปฏิบัติธรรมเนียมการตั้งเครื่องสังเวยในเทศกาลตรุษจีนอย่างหลวงนี้เป็นต้นแบบ โดยกำหนดจัดขึ้นในวัน ‘วันชิวอิก’

ธรรมเนียมการตั้งเครื่องสังเวยในเทศกาลตรุษจีนของพระราชสำนักสยามเริ่มปรากฏตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ และถือปฏิบัติเรื่อยมาตราบจนปัจจุบันเรียกว่า ‘พระราชพิธีสังเวยพระป้าย’ พระราชพิธีนี้จะจัดขึ้นใน ‘วันชิวอิก’ หรือวันถือ (วันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่ง (初一 ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี หรือ “วันตรุษจีน”)ไม่ใช่ ‘วันไหว้’ อย่างที่สามัญชนปฏิบัติกัน ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตแห่งหนึ่งและที่พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอินอีกแห่งหนึ่ง

พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงถือปฏิบัติธรรมเนียมการตั้งเครื่องสังเวยในเทศกาลตรุษจีนอย่างหลวงนี้เป็นต้นแบบ โดยกำหนดจัดขึ้นในวัน ‘วันชิวอิก’ เว้นแต่ในปีที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เสด็จแทนพระองค์ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีสังเวยพระป้าย ณ พระที่นั่งเวหาศจำรูญ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี จะทรงพระกรุณาโปรดให้จัดพิธีสังเวย ณ วังรื่นฤดีในวันไหว้ อันได้แก่วันสิ้นปีตามปฏิทินจีน ทั้งนี้ รูปแบบวิธีการตั้งเครื่องสังเวยใช้กับวังรื่นฤดี มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการจัดเครื่องสังเวยบรรพบุรุษของชาวจีนแต้จิ๋วผนวกกับการตั้งเครื่องสังเวยในวัฒนธรรมไทย ดังเช่นการจัดเครื่องบูชาสังเวยของหลวง

การสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพระประยูรญาติในเทศกาลตรุษจีนของวังรื่นฤดี เริ่มต้นด้วยการสังเวยพระภูมิประจำวังรื่นฤดี ซึ่งนอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งสักการะตามแบบประเพณีไทย เช่น หมากพลู ละครยก ตุ๊กตาช้าง ม้า ตุ่มน้ำ ผ้าสีชมพู จากนั้นจุดธูปเทียนบูชาปักธูปหางที่เครื่องสังเวยถือเป็นขั้นตอนแรกของธรรมเนียมตรุษจีนวังรื่นฤดี

พิธีถัดมาจัดขึ้นบนพระตำหนัก ตั้งเครื่องสังเวยจำแนกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนบริเวณทางท้องพระโรงจัดโต๊ะสังเวย เรียงรายด้วยโต๊ะและจานชามเงิน ซึ่งเป็นภาชนะสำหรับจัดเครื่องเสวยประจำวันตามพระอิสริยยศของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ แก้วเจียระไน และเครื่องกระเบื้องจีนอันงามวิจิตรสำหรับสมเด็จพระบรมราชบุพการีในพระบรมราชจักรีวงศ์ ส่วนบริเวณทางห้องเสวยด้านหลัง จัดโต๊ะสังเวยที่ใช้ภาชนะแก้วเจียระไนและเครื่องกระเบื้องจีน มีลักษณะอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มที่สามัญกว่าสำหรับพระประยูรญาติฝ่ายพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี

ตามบันทึกรายการอาหารสำหรับตั้งเครื่องสังเวยตรุษจีนของวังรื่นฤดี ตั้งแต่ในสมัยที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ยังมีพระชนม์อยู่ เครื่องสังเวยประกอบด้วยอาหารคาว ผลไม้ และขนม ตามรูปแบบธรรมเนียมเครื่องไหว้อาหารมงคลอย่างจีน นอกจากเนื้อสัตว์แต่ชนิดจะสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง และเน้นอาหารที่ปรุงจากเส้นหมี่ หมี่ซั่ว บะหมี่ สื่อถึงอายุยืนยาวต้อนรับปีใหม่แล้ว ยังมีอาหารคาวอื่นๆ เช่นแกงจืดวุ้นเส้น แกงหอง (หน่อไม้ต้มใส่หมูสามชั้นและถั่วลิสง) ผัดต้นกระเทียม ผัดขิง ผัดคะน้า รวมถึงอาหารไทยอย่าง “ยำใหญ่” อาหารไทยสำรับชาววัง ที่ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ หรือเครื่องเสวยที่สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าโปรด เช่น กระเพาะปลาทอดกรอบจิ้มน้ำพริกเผา เป็นต้น

โต๊ะเครื่องสังเวยสำหรับสมเด็จพระบรมราชบุพการีในพระบรมราชจักรีวงศ์นั้น ตั้งพานพระศรี สำหรับบรรจุหมากพลูเสวยของพระมหากษัตริย์ มีการปักธูปหางที่เครื่องสังเวยซึ่งเป็นรูปแบบธรรมเนียมการตั้งเครื่องสังเวยแบบไทยในเทศกาลตรุษจีนของวังรื่นฤดี ที่ต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีน

จากแนวทางการจัดเตรียมเครื่องสังเวย ตามที่พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงกำหนดไว้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้ทรงสืบทอดเรื่อยมาด้วยพระกตัญญูกตเวทิตาธรรม และปัจจุบันนี้เหล่าข้าราชบริพาร และพนักงานผู้เคยถวายงานยังคงถือปฏิบัติสนองพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณ ด้วยความกตัญญูกตเวทีและจงรักภักดีอันมั่นคงมิเสื่อมคลาย

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์