เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ศิลปวัตถุ และสิ่งของส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ ตอนที่ ๑

เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ยังทรงพระเยาว์ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ โปรดให้มีครูมาสอนเปียโนถวายสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เพื่อจะได้ทรงเติบใหญ่เป็นขัตติยนารีผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถหลากหลายทั้งในสายตาชาวไทยและชาวต่างชาติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระอัจฉริยภาพทางดนตรีเป็นอย่างยิ่ง ทรงมีความจำเป็นเลิศในเรื่องดนตรี โดยหลังจากทรงเริ่มเรียนเปียโนจนเข้าพระทัยโน้ตและวิธีการเล่นแล้ว หากทรงฟังเพลงใดก็ตามที่บรรเลงแม้เพียงครั้งเดียวแล้วโปรด จะทรงสามารถบรรเลงเพลงนั้นได้ทันที ดังที่นักดนตรีชาวตะวันตกเรียกว่า Play by Ear หรือถ้าได้ทอดพระเนตรแผ่นโน้ตเพียงหนเดียวแล้วโปรด จะทรงสามารถบรรเลงเพลงนั้นได้อย่างแม่นยำ โดยไม่จำเป็นต้องมีแผ่นโน้ตกางถวายอีก

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โปรดการทรงเปียโนเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาที่ทรงว่างจากพระภารกิจ พระองค์จะประทับหน้าเปียโนหลังโปรดและทรงเปียโนครั้งละนาน ๆ ทรงพรมนิ้วพระหัตถ์บรรเลงอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับทรงขับร้องคลอไปด้วยกระแสพระสุรเสียงกังวานใส ไพเราะและชัดถ้อยชัดคำอย่างเบิกบานพระหฤทัยเช่นนี้แทบทุกวัน คุณพยาบาลประจำพระองค์ได้เล่าเรื่องการทรงเปียโนของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไว้ว่า “…บางวันท่านจะทรงเปียโน แล้วพวกเราก็เป็นคนร้อง …เพลงแรกที่ร้องคือเพลงข้องจิต ท่านก็ทรงเปียโน และทรงร้องกับพวกเรา …ท่านโปรดเพลงคลาสสิกและเพลงสุนทราภรณ์ โปรดมาก อย่างเราร้องถวาย เพลงไหนที่ท่านโปรด ก็จะทรงเปียโนตามไปด้วย…” เปียโนหลังโปรดของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เป็นแกรนด์เปียโนหลังใหญ่สีดำ ซึ่งเป็นของเก่าของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แกรนด์เปียโนหลังนี้ย้ายมาจากสวนรื่นฤดีซึ่งเป็นตำหนักส่วนพระองค์แห่งแรกของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ

แกรนด์เปียโนหลังนี้ผลิตเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ (พ.ศ. ๒๔๖๗) โดยบริษัท เจ แอล ดุยเซ่น (J.L. Duysen) เป็นบริษัทผู้ผลิตเปียโนในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีความพิเศษทั้งรูปลักษณ์ภายนอก และกลไลภายในที่แตกต่างจากเปียโนทั่วไปที่ผลิตในช่วงนั้น ดังจะสังเกตได้จากกลไกและแป้นคีย์บอร์ดเปียโนถูกยึดด้วยตะปูทุกส่วน ต่างจากเปียโนทั่วไปที่จะยึดด้วยกาวที่ทำจากหนังสัตว์ มีการเสริมความคงทนที่บริเวณขาเปียโนด้วยแผ่นโลหะหุ้มไม้อีกชั้นหนึ่ง พร้อมตรึงหมุดตะปูภายนอกจำนวนมากตลอดหลังเพื่อป้องกันการหดตัวของโครงสร้าง อันอาจเกิดจากสภาพอากาศที่ชื้นและหนาวเย็นในยุโรป การประยุกต์นำโลหะมาเสริมความคงทนแข็งแรงให้กับโครงสร้างของเปียโน นับว่าเป็นนวัตกรรมในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ อีกหนึ่งลักษณะพิเศษคือ กลไกการทำงานของแจ็ก (Jack) มีการเจาะรูภายในกลไกเพื่อร้อยด้ายและลวดยึดสักหลาดตามจุดต่าง ๆ ของกลไก อันเป็นกลวิธีที่ละเมียดละไม ต้องอาศัยความแม่นยำเพื่อความสัมพันธ์ต่อกลไกส่วนอื่น ๆ อย่างลงตัว

นอกจากนี้ คีย์เปียโนยังทำจากพลาสติกแผ่นเดียว ดัดโค้งให้พอดีกับหน้าคีย์ เป็นลักษณะคีย์เปียโนที่พบในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เนื่องจากโดยปกติแล้วคีย์เปียโนสีขาวจะผลิตจากงาช้าง ซึ่งเป็นของหายากและมีราคาสูง การใช้วัสดุสังเคราะห์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งสามารถจัดการกับรูปทรงได้ตามต้องการ ประกอบกับเมื่อวางนิ้วระหว่างบรรเลงจะไม่สะดุด เมื่อต้องย้ายมือไปอีกตำแหน่งอย่างรวดเร็ว แกรนด์เปียโน ณ วังรื่นฤดี จึงถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งยุคสมัย

แม้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ไปแล้ว หากมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ยังคงอนุรักษ์แกรนด์เปียโนหลังนี้ไว้เป็นอย่างดี ถ้านับถึงพุทธศักราช ๒๕๖๕ แกรนด์เปียโนหลังนี้ มีอายุถึง ๙๘ ปีแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ งามสง่าอยู่ภายในท้องพระโรงพระตำหนักวังรื่นฤดี เตือนใจให้ระลึกถึงพระปรีชาสามารถพิเศษด้านการดนตรีของพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของวัง ซึ่งทรงเคยรังสรรค์งานดนตรีอันเปี่ยมด้วยสุนทรียารมณ์ เป็นแว่วเสียงกังวานใสไพเราะ สมกับที่ทรงเป็นสายพระโลหิตแห่งพระมหากษัตริย์จอมปราชญ์ของชาติไทย

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์