เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา พระกตัญญูกตเวทิตาธรรมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เนื่องในเทศกาลตรุษจีน

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ มีพระหฤทัยระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อพระองค์อยู่เสมอ ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและผู้ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงเทศกาลสำคัญวันตรุษจีนซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีจีนที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ทั้งสองพระองค์ทรงริเริ่มกำหนดธรรมเนียมส่วนพระองค์และทรงถือปฏิบัติตามธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประจำทุกปี ดังปรากฏในหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ความว่า

“…เมื่อทรงมีโอกาส หรือถึงเทศกาลสำคัญวันพิเศษต่าง ๆ เจ้าฟ้าหญิงและพระชนนีก็ทรงระลึกถึงผู้มีพระคุณอยู่เสมอ ทั้งที่ยังมีชีวิตและที่ล่วงลับไปแล้ว

…เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรได้สักระยะหนึ่งแล้ว …ทรงมีโอกาส…ใกล้ชิดกับราษฎรทุกวัย อาชีพ ศาสนาและเชื้อชาติ โดยเฉพาะชาวจีนในประเทศไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน

…พอถึงเทศกาลตรุษจีน …จะมีพ่อค้าคหบดีชาวไทยเชื้อสายจีนหลั่งไหลกันมาที่วังไม่ขาดสาย …นำของตรุษจีน …มาทูลเกล้าฯ ถวาย…เป็นประจำทุกปี ทำให้ทรงพบเห็นธรรมเนียมประเพณีอันน่านิยมของชาวจีนซึ่งแสดงถึงความกตัญญูรู้คุณ

แม้ตามสายพระโลหิต สมเด็จเจ้าฟ้าฯ จะทรงมีเชื้อสายจีนอยู่บ้างจาก ‘พระเปตามหัยยิกา’ หรือยายทวดทางฝั่งพ่อ คือ ‘สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา’ (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ในรัชกาลที่ ๔) พระชนนีของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่กระนั้น ก็ไม่ได้ทรงเป็นจีนอย่างเต็มพระองค์นัก

อย่างไรก็ดี ใครที่มีโอกาสได้ผ่านวังรื่นฤดีในวันตรุษจีน ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมเจ้านายวังนี้ทรงมีเชื้อจีนถึงขนาดเสด็จออกมาทรงเผากระดาษเงินกระดาษทองเชียวหรือ ในตำหนักก็ตั้งเครื่องสังเวย…จัดอาหารหวานคาวเซ่นสรวงอย่างเอิกเกริก

โต๊ะสังเวยจัดแยกกันเป็นสองส่วน คือทางท้องพระโรงจัดโต๊ะใหญ่อย่างหรูหราสำรับหนึ่ง สำหรับสมเด็จพระบรมราชบุพการีในพระบรมราชจักรีวงศ์ ส่วนทางห้องเสวยด้านหลัง จัดโต๊ะที่ดูเรียบร้อยแต่ออกจะลำลองกว่าสำหรับพระญาติฝ่ายพระนางเจ้าสุวัทนาฯ

…พระนางเจ้าสุวัทนาฯ เคยมีรับสั่งอธิบายถึงการที่ทรงตั้งธรรมเนียมเซ่นไหว้เป็นพิเศษนี้ให้ผู้สงสัยได้เข้าใจถึงพระดำริ

‘…คิดดูสิ บรรพบุรุษบ้านอื่นได้กินกันอิ่มหนำสำราญในวันตรุษจีน เพราะลูกหลานเขาเซ่นไหว้กัน ลองมานึกถึงบรรพบุรุษของเรา ถ้าท่านต้องมองเห็นคนอื่นอิ่มหนำ และได้ชื่นใจที่ลูกหลานคิดถึง …แต่ของเรากลับต้องอดอยากปากแห้ง เพราะลูกหลานทำเฉย ๆ …ก็น่าสงสารท่าน’

…ธรรมเนียมการตั้งเครื่องสังเวยในเทศกาลตรุษจีนนั้น ในพระราชสำนักสยามได้จัดทำเป็นส่วนของหลวงมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ตราบจนปัจจุบันเรียกว่า ‘พระราชพิธีสังเวยพระป้าย’

พระราชพิธีนี้จะจัดกันใน ‘วันชิวอิก’ หรือวันถือ ไม่ใช่ ‘วันไหว้’ อย่างที่สามัญชนปฏิบัติกัน ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตแห่งหนึ่งและที่พระที่นั่งเวหาศจำรูญ พระราชวังบางปะอินอีกแห่งหนึ่ง เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงนิยมนับถือธรรมเนียมนี้เป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ เสด็จแทนพระองค์ไปทรงสังเวยพระป้ายที่บางปะอินเป็นประจำทุกปี ถ้าพระอนามัยอำนวย…”

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์