เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ กับงานด้านสังคมสงเคราะห์ ตอนที่ ๖

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงตระหนักเห็นถึงวิถีชีวิตและบทบาทของเจ้านายสตรีชาวอังกฤษในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมบุรุษ ขณะประทับ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อราชนารีทั้งสองพระองค์เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร จึงทรงเป็นผู้บุกเบิก ‘วิถี’ และ ‘ค่านิยม’ ให้กับเจ้านายสตรีฝ่ายในของไทยในการออกมาปฏิบัติพระกรณียกิจในด้านต่าง ๆ ทั้งสองพระองค์ทรงส่งเสริมและเป็นดั่งแรงบันดาลใจให้สตรีไทยมีบทบาทในการปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและปฏิบัติงานด้านอื่น ๆ เพื่อช่วยเป็นอีกกำลังหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ ดังปรากฏในหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ความว่า

“…สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลานาน ทำให้ทรงมีโอกาสได้คลุกคลีกับวิถีชีวิตของสตรีชาวอังกฤษ ที่มีบทบาทในการพัฒนาบ้านเมือง เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุรุษอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในการเสด็จออกไปปฏิบัติพระกรณียกิจนอกวังของเจ้านายสตรี

สมัยก่อนหน้านั้น เจ้านายฝ่ายในของเมืองไทยส่วนใหญ่มักจะทรงมีบทบาทอย่าง ‘ช้างเท้าหลัง’
…ตามแบบแผนกุลสตรีไทยยุคโบราณ การจะเสด็จออกทรงงานหรือเข้าสังคมสโมสรต่าง ๆ นอกวัง เรียกได้ว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดในสายตาของคนส่วนใหญ่

…สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงเป็นผู้บุกเบิก ‘วิถี’ และ ‘ค่านิยม’ ในการปฏิบัติพระองค์เจ้านายฝ่ายในของไทยในศตวรรษใหม่ ทรงพยายามทุกทางที่จะบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในฐานะที่ทรงเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ …แต่ในขณะเดียวกันก็ยังทรงวางพระองค์เป็นขัตติยานีอย่างเคร่งครัดเพื่อความเหมาะสม

ในที่สุด การเสด็จออกมาทรงงานการสาธารณกุศลต่าง ๆ ของเจ้าฟ้าหญิง จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นแบบแผนให้เจ้านายฝ่ายในในยุคต่อ ๆ มาทรงดำเนินรอยตามตราบจนทุกวันนี้

…ดังจะเห็นได้จากพระดำรัสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ที่พระราชทานไว้แก่สมาคมสตรีชาวนาไทย ทรงสนับสนุนให้สตรีไทยเข้ามามีบทบาทในการทำงานพัฒนาประเทศ

“…การช่วยกันระงับความเดือดร้อน หรือนัยหนึ่งช่วยกันเสริมสร้างความสุข ความสมดุลให้แก่ประชาชนนั้น จะทำให้เกิดความเจริญพัฒนาถาวรขึ้น อันจะทำให้อนุชนรุ่นต่อไปได้รับมรดกอันมีค่า คือประเทศไทยมีความสมบูรณ์ ร่มเย็น เป็นสุข …ในการที่สตรีได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศชาตินั้น นับว่าเป็นที่น่าสรรเสริญ และน่าภาคภูมิใจ”

เมื่อเจ้านายสตรีทรงงานเพื่อบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่เช่นนี้ ผู้หญิงไทยจึงเริ่มตื่นตัวที่จะทำงานเพื่อสังคมมากขึ้นเป็นลำดับ

คุณหญิงยุกตเสวีวิวัฒน์ (ถนอมศรี ยุกตะเสวี) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์จากทั้งสองพระองค์ ดังที่ธิดาของคุณหญิงได้บันทึกไว้

“คุณหญิงเคยเล่าให้ฟังว่า ได้มีโอกาสเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และเสด็จพระนางฯ สม่ำเสมอในการเสด็จงานกุศลที่องค์กรต่าง ๆ จัด …ได้เรียนรู้เรื่องกิจการกุศลในประเทศอังกฤษที่เสด็จพระนางฯ เล่าประทานเป็นตัวอย่างการทำงานที่ดี ๆ หลายประการ
แม้เรื่องธุรกิจการงานในประเทศไทยที่สองพระองค์ทรงเกี่ยวข้องก็ได้รับใส่เกล้าฯ เป็นแนวคิดอันนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นประโยชน์…”

ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช กล่าวสรุปพระจริยวัตรในส่วนนี้ได้อย่างชัดเจน

“นอกจากงานเพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ …ยังทรงติดตามงานพัฒนาความก้าวหน้าของสตรีไทย โดยเฉพาะงานของสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์อย่างใกล้ชิด ด้วยทรงเป็นห่วงเป็นใยในสถานภาพของสภาสตรีฯ ได้ทรงเป็นพระธุระในการขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ให้สภาสตรีฯ ได้มีที่ทำงานถาวรแห่งแรก ณ พระกรุณานิวาสน์ ถนนพิชัย ซึ่งทุกวันนี้องค์กรสตรีอีกหลายองค์กร ได้ร่วมใช้เป็นสำนักงานให้บริการแก่สตรีผู้เดือดร้อนขาดแคลนนานาประการ”…”

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์