เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ กับงานด้านสังคมสงเคราะห์ ตอนที่ ๕

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงริเริ่มจัดงานเพื่อหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรการกุศล โดยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้วังรื่นฤดีเป็นสถานที่จัดงานการกุศลต่าง ๆ เป็นแห่งแรก ๆ ในเมืองไทยดังปรากฏในหนังสือ ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า ความว่า

“…การขอความช่วยเหลือที่ทั้งสองพระองค์มักจะไม่ทรงปฏิเสธ นั่นคือการขอพระราชทานพระอุปถัมภ์ในกิจการสาธารณกุศล

ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช บันทึกเกี่ยวกับกิจการด้านสังคมสงเคราะห์ในราว พ.ศ. ๒๕๐๐ ไว้ ความว่า

“ยุคนั้นเป็นยุคแรกเริ่มของงานสังคมสงเคราะห์ตามรูปแบบสากลในประเทศไทย สตรีไทยเริ่มขยายการช่วยงานสังคม เพิ่มจากแวดวงครอบครัว เพื่อนสนิท และวงการศาสนา ออกไปสู่ชุมชนที่เจ็บไข้ ยากไร้ขาดแคลน และต้องการความช่วยเหลือให้สามารถพัฒนาตนเองให้มีความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น…”

สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงใช้วังรื่นฤดีของพระองค์เป็นจุดเริ่มต้นของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ …ทรงพระกรุณาพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้วังของพระองค์เป็นสถานที่จัดงานหารายได้เพื่อการกุศลเป็นแห่งแรก ๆ ในเมืองไทย

งานเดินแฟชั่นหารายได้เพื่อการกุศลงานแรกที่จัดขึ้นหน้าพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็จัดขึ้นที่วังรื่นฤดี ในชื่อว่า “งานเมตตาบันเทิง รื่นฤดี” ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงรับเป็นเจ้าภาพสถานที่ ตามคำกราบทูลขอของหม่อมพร้อยสุภิณ วรวรรณ ณ อยุธยา ในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงศ์ นายกสมาคมสตรีภาคพื้นแปซิฟิกและเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ท่านผู้หญิงสุมาลีฯ เล่าถึงบรรยากาศในงานนั้นไว้
“…สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางฯ ทรงเป็นเจ้าภาพของงาน …มีผู้คนมาร่วมงานมากมาย ต่อจากงานวันนั้นสืบมา มีองค์กรการกุศล และหน่วยงานสาธารณประโยชน์อีกมากมายที่ได้รับพระราชทานพระกรุณาธิคุณให้จัดงานในบริเวณวังรื่นฤดี…”

งานวันนั้น นอกจากจะมีสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ มาทรงเป็นประธานแล้ว ยังมีเจ้านายสำคัญหลายพระองค์เสด็จมาทรงร่วมงาน

…กว่าจะจัดงานการกุศลที่วังรื่นฤดีให้ประสบผลสำเร็จ เป็นงานเลื่องลือแห่งยุคสำหรับแขกเหรื่อ ได้กล่าวขวัญกันอย่างชื่นชมต่อ ๆ กันไป …ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย และมิได้เบาแรงสำหรับพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของวังเลยแม้แต่น้อย

เบื้องหลังการจัดงานแต่ละครั้ง ผู้ที่เหน็ดเหนื่อยที่สุดก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากเจ้าของวังทั้งสองพระองค์ ทั้งทรงจัด ทรงเป็นเจ้าภาพ ทรงร่วมงานและทรงเก็บงานเอง แม้มีมหาดเล็กและข้าหลวงคอยแบ่งเบาไปบ้าง แต่จำนวนคนเหล่านั้นก็มีไม่กี่คน ทุกครั้ง ทั้งสองพระองค์จึงต้องทรงลงพระหัตถ์ทำงานด้วยพระองค์เองเสมอ

…แขกผู้มีเกียรติทั้งหลาย ไม่มีวันจะได้เห็นภาพอย่าง ‘ลุงสี’ มหาดเล็กเก่าแก่ประจำวังรื่นฤดีได้เห็นอยู่เป็นนิจ จนทบทวนความทรงจำได้แม่นยำ

“พอเสร็จงาน เสด็จฯ ท่านจะทรงพระดำเนินสำรวจไปทั่ว ๆ วัง ในพระหัตถ์จะทรงหิ้วกระป๋องทราย คอยก้มลงหยอดอุดรูตามพื้นสนาม เพราะแขกมากันที ทั้งส้นรองเท้า ทั้งขาโต๊ะ ขาเก้าอี้ เจาะพื้นสนามหญ้าของท่านเสียพรุนไปหมดทั่วทั้งวังแหละครับ…”

แต่ถ้าจะถามว่าทรงเข็ดกับการจัดงานหารายได้เพื่อสังคมสงเคราะห์เช่นนี้ที่วังของพระองค์หรือไม่ คำบอกเล่าของข้าในพระองค์คงเป็นคำตอบที่ชัดเจน

“…วังรื่นฤดี แต่ก่อนจัดงานบ่อยแทบทุกปี …หารายได้เข้าการกุศลทั้งนั้น ส่วนมากพอคนเห็นว่า
…จัดงานที่นี่แล้ว …คนมางานกันแยะ ก็บริจาคแยะ ได้เงินช่วยเหลือองค์กรการกุศลได้มาก ก็พากันมาขอประทานพระอนุญาตใช้วัง …ไม่เห็นจะทรงปฏิเสธสักครั้ง กลับทรงช่วยรับเป็นเจ้าภาพด้วยซ้ำ”

ด้วยเหตุนี้ วังรื่นฤดีย่อมหาได้คงความสำคัญเป็นเพียง ‘บ้าน’ ของเจ้าฟ้าหญิงและพระชนนีแต่สถานเดียวไม่ หากยังเป็นจุดกำเนิดของการจัดงานสังคมสงเคราะห์แห่งแรก ๆ ของเมืองไทยอีกด้วย

วังเล็ก ๆ บนเนื้อที่เพียง ๗ ไร่กว่า ๆ ในท้ายซอยสันติสุข จึงมีคุณค่าเสมือนหนึ่ง ‘ที่ทำงาน’ ของราชนารีในรัชกาลที่ ๖ ทั้งสองพระองค์ เพื่อความผาสุกของประเทศชาติและประชาชนที่ทรงรักและเป็นห่วงเสมอ

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์