เรื่องเล่าพระผู้ทรงก่อตั้งมูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา สถาปัตยกรรมอันเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา ฯ ตอนที่ ๑

วังรื่นฤดี ในซอยสุขุมวิท ๓๘ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ เป็นดังภาพสะท้อนถึงพระจริยวัตรของทั้งสองพระองค์ที่โปรดความสงบ เรียบง่าย และความรื่นรมย์ของธรรมชาติ

เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้ศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นเป็นสถาปนิกผู้มีชื่อเสียง อีกทั้งเป็นสามีของนางจุนเจือ ภิรมย์ ข้าราชบริพารผู้จงรักภักดีและเป็นที่ไว้วางพระทัยของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เป็นผู้ออกแบบตำหนัก องค์ตำหนักเป็นตึก ๒ ชั้น รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์น ทันสมัย เรียบง่าย ตามแนวการออกแบบของแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ (Frank Lloyd Wright) สถาปนิกชาวอเมริกันผู้เลื่องชื่อ ซึ่งเน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติ โดดเด่นด้วยเส้นและรูปทรงเรขาคณิต

ตำหนักองค์นี้มีขนาดกะทัดรัด ไม่หรูหรากรุยกรายอลังการ แต่มีเสน่ห์ลึกซึ้งชวนมอง สอดคล้องกับพระอัธยาศัยของทั้งสองพระองค์ คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย ภายในห้องกลางออกแบบให้เพดานสูง เปิดโล่งตลอด ผนังเจาะช่องแสง ช่วยการถ่ายเทอากาศ และเปิดให้ลมธรรมชาติเข้าสู่ภายในได้ ผนังบางส่วนกรุกระจกฝ้าแทนผนังปิดทึบ เอื้อต่อการประหยัดไฟฟ้า ด้วยในสมัยนั้นยังไม่นิยมใช้เครื่องปรับอากาศในห้องโถงขนาดใหญ่ รอบองค์ตำหนักจึงออกแบบให้มีพระแกลขนาดใหญ่ รับแสงสว่างและลมจากภายนอก ทำให้ภายในตำหนักดูสว่างและเย็นสบาย สมกับภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมของย่านสุขุมวิทเมื่อราว ๗๐ ปีก่อนซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่งกว้าง อากาศดี เป็นที่นิยมของเจ้านายและคหบดียุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่หลีกหนีความแออัดในพระนครออกไปซื้อหาที่ดินและปลูกสร้างที่พักอาศัยเป็นชุมชนใหม่แห่งยุค

ภายในตำหนักนี้ยังมีลักษณะพิเศษตามพระนิยมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ฯ คือ มีสวนหย่อมขนาดเล็ก บ่อปลา ในบริเวณพื้นที่เสวยพระกระยาหารเช้า และยังมีห้องใต้ดินภายในตำหนัก สำหรับเก็บของ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการออกแบบทันสมัยมากในยุคนั้น นอกจากองค์ตำหนักซึ่งตั้งอยู่เป็นประธานแล้ว ยังประกอบด้วยอาคารบริวาร เช่น เรือนพักคุณข้าหลวง ห้องเครื่อง และห้องกรมวัง เป็นต้น ภายในบริเวณวัง ปลูกต้นไม้น้อยใหญ่ทั้งไม้ดอกและไม้ใบ มีสนามหญ้าเขียวชอุ่มงามตา ปรับภูมิทัศน์เป็นเนินสูงต่ำมีมิติชวนมอง พร้อมสระน้ำขนาดใหญ่รูปแผนที่ประเทศไทยอยู่ข้างตำหนัก สำหรับเลี้ยงปลาและเต่า นับเป็นวังที่ไม่ใหญ่โตแต่รื่นรมย์อย่างยิ่ง สะท้อนถึงพระนิยมวิไลแต่พอเหมาะพอสมของทั้งสองพระองค์ได้เป็นอย่างดี

บทความที่น่าสนใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์