การบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวาย รัชกาลที่ ๖ (๒๖ พ.ย. ๖๗)

วันอังคาร ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เสด็จไปทรงเป็นประธานในการบำเพ็ญพระกุศลซึ่งพระราชวงศ์พร้อมด้วยคณะข้าราชบริพารและผู้จงรักภักดี พร้อมใจกันจัดขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวาระคล้ายวันสวรรคต เป็นปีที่ ๙๙ ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อเสด็จถึง ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธชินสีห์ประธานพระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งบรรจุใต้ฐานพุทธบัลลังก์ พระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงกล่าวคำถวายสังฆทาน และทรงประเคนภัตตาหารสังฆทาน พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมราชสรีรางคาร แล้วพระสงฆ์อีก ๔๖ รูป เท่าพระชนมพรรษา สวดมาติกาและสดับปกรณ์พระบรมราชสรีรางคาร

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อพสกนิกรในหลากหลายด้าน ทั้งในด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ.๒๔๖๔ เพื่อให้เยาวชนไทยได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สามารถอ่านออกเขียนได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก ด้านเศรษฐกิจ ได้พระราชทานกำเนิดธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลให้ราษฎรรู้จักเก็บออมทรัพย์อย่างถูกวิธี ด้านการคมนาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเส้นทางรถไฟซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่รัชกาลก่อนให้กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคมากขึ้น เช่น ทางรถไฟสายใต้ไปจนสุดเขตแดนสยามและทางรถไฟสายเหนือไปจนถึงเชียงใหม่ เป็นต้น ด้านการสาธารณสุข ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สถานเสวภา วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลวชิระ ภูเก็ต ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของราชอาณาจักร ในฐานะที่ทรงเป็นจอมทัพ ได้ทรงกำหนดพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ไว้สำหรับอนาคตแห่งกิจการกองทัพไทยไว้หลายแห่ง เช่น พื้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และพื้นที่กองทัพภาคที่ ๔ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นต้น

อีกทั้งยังทรงนำสยามเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ กับฝ่ายสัมพันธมิตร จนประสบชัยชนะ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ นับเป็นพระราชวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้ประเทศสยามได้รับการยกย่องว่าเป็นอารยประเทศเสมอหน้าทัดเทียมกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ในโลกยุคนั้น พร้อมกันนี้ ยังเป็นโอกาสให้สยามได้เริ่มแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในด้านการศาลและเศรษฐกิจการพาณิชย์กับบรรดาประเทศต่าง ๆ จนสำเร็จสมบูรณ์ในเวลาต่อมา ชัยชนะในครั้งนั้นทำให้ประเทศสยามได้เข้าร่วมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และได้เป็นประเทศร่วมก่อตั้งองค์การสันนิบาตชาติ หรือในปัจจุบันคือ องค์การสหประชาชาติ ซึ่งนับเป็นการยกระดับเกียรติภูมิของประเทศสยามครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งท่ามกลางเวทีโลก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในกลางดึกของคืนวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นเวลา ๐๑.๔๕ น. ของวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ สิริพระชนมพรรษา ๔๕ พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ๑๕ ปี มีพระราชธิดาพระองค์เดียวซึ่งประสูติแต่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ก่อนวันสวรรคตเพียง ๑ วัน คือ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ชมวีดิทัศน์การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์